วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

มาทำความรู้จักภาคอีสานกันก่อน (ประเทศไทย)

ภาคอีสาน หรือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเขตหรือภาคหนึ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อยู่บนที่ราบสูงโคราช มีแม่น้ำโขงกั้นเขตทางตอนเหนือและตะวันออกของภาค ทางด้านใต้จรดชายแดนกัมพูชา ทางตะวันตกมีเทือกเขาเพชรบูรณ์และเทือกเขาดงพญาเย็นเป็นแนวกั้นแยกจากภาคเหนือและภาคกลาง
                การเกษตรนับเป็นอาชีพหลักของภาค แต่ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ทางด้านสังคมเศรษฐกิจ ทำให้มีผลผลิตที่น้อยกว่าภาคอื่นๆ
                ภาษาหลักของภาคนี้ คือ ภาษาอีสาน แต่ภาษาไทยกลางก็นิยมใช้กันแพร่หลายโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ขณะเดียวกันยังมีภาษาเขมร ที่ใช้กันมากในบริเวณอีสานใต้ นอกจากนี้ยังมีภาษาถิ่นอื่นๆ อีกมาก เช่น ภาษาผู้ไท ภาษาโส้ ภาษาไทยโคราช เป็นต้น



ภาคอีสาน มีเนื้อที่มากที่สุดของประเทศไทย ประมาณ 168,854 ตารางกิโลเมตร หรือมีเนื้อที่ร้อยละ 33.17 เทียบได้กับหนี่งในสามของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทยได้จัดว่าเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เทือกเขาที่สูงที่สุดในภาคอีสานคือ ยอดภูหลวง และภูกระดึงซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญของชาวอีสานในหลายจังหวัดด้วยกัน เช่น ลำตะคอง แม่น้ำชี แม่น้ำพอง แม่น้ำเลย แม่น้ำพรม แม่น้ำมูล
                การค้นพบโครงกระดูก และรอยเท้าไดโนเสาร์บนแผ่นหินทรายที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย และอำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ หรือแม้แต่ ภาพเขียนของมนุษย์โบราณตามผนังถ้ำ รวมทั้งวัฒนธรรมบ้านเชียง และซากโบราณวัตถุมากมาย ทำให้การขุดค้นหาร่องรอยอารยธรรมในอดีตของดินแดนอันมั่งคั่งแห่งนี้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ
                แม้ว่าชาวอีสานที่อาศัยอยู่ในที่ราบสูงโคราชนี้ จะประกอบด้วยกลุ่มชนหลายเผ่า เช่น เขมร ส่วย (กุย) แสก ย้อ ผู้ไทย กะโส้ (โซ่) รวมทั้ง ไทยโคราช ซึ่งแต่ละเผ่าย่อมมี ความแตกต่างกัน แต่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยึดมั่นอยู่ในจารีตประเพณี ที่เรียกว่า "ฮีตบ้าน คองเมือง" และ "ฮีตสิบสอง คองสิบสี่" สอนให้ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ร่วมกิจกรรมสังคมและ งานบุญงานกุศล เป็นประจำ ทำให้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของกลุ่มชนเหล่านี้มีความสงบสุขตลอดมา ด้วยอุปนิสัยขยันขันแข็ง และสุขภาพ ร่างกายที่สมบูรณ์ จิตใจผ่องใสอ่อนโยน และเวลาที่ว่างจากการทำนา จึงคิดสร้าง สรรค์งานศิลป์ในรูปแบบต่างๆ ผ้าไหม ลายสวย ผ้าฝ้ายทอมือที่นับวันจะหายาก ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องจักสาน และเครื่องปั้นดินเผา สร้างรายได้แก่ครอบครัว อีกทางหนึ่ง
                ความอุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติที่สวยงามบนยอดเขาสูงหลายแห่ง แหล่งรวมอารยธรรมโบราณนับพันปี ที่ทรงคุณค่า ทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนวัฒนธรรมพื้นบ้าน วิถีชีวิตที่เรียบง่าย และความมีน้ำใจของชาวอีสาน ยังคงเป็นเสน่ห์ที่มัดใจ ให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนอีสานอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน

วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Review Resort ... อีสาน

มหัศจรรย์สามพันโบก อุบลฯ

สามพันโบก หนึ่งในสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวของอุบลราชธานีที่วันนี้ทุกคนต้องมาเยือน โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เดือนมิถุนายนของทุกปี หลังสายน้ำในแม่น้ำโขงลดลงจนเผยให้เห็นเกาะแก่งหินที่ถูกกระแสน้ำขัดเกลาจนเกิดเป็นประติมากรรมธรรมชาติกินอาณาบริเวณกว้างไกลสุดตายตา ราวกับเมืองแห่งความลับใต้บาดาล ดูสวยงามยามต้องแสงสีทองของดวงตะวันไม่ว่าจะเป็นยามเช้าหรือเย็นย่ำ ล้วนตรึงทุกสายตาให้จดจ่อและดื่มด่ำกับภาพนั้นยาวนานที่สุด
คงไม่ผิดนักหากเปรียบที่นี่ดัง "แกรนด์แคนยอนเมืองไทย" ด้วย "โบก" อันเกิดจากกระแสน้ำโขงได้กัดเซาะหินทรายจนกลายเป็นหลุมเป็นแอ่งมากมายหลายขนาด กลายเป็นผลงานสร้างสรรค์จากธรรมชาติอันไพศาลชื่อว่า "สามพันโบก" ซึ่งจะพาทุกจินตนาการหลุดลอยไปกับสายน้ำ พร้อมเรื่องราวตำนานสามพันโบกที่มีมีอยู่หลายเรื่องให้ได้พิศวง อาทิ ตำนานหินหัวสุนัขตรงทางเข้าซึ่งจะพบหินคล้ายหัวสุนัข ตำนานหาดหินสีหรือทุ่งหินเหลื่อม ตำนานปู่จกปู อันเป็นหลุมโบกที่เกิดขึ้นนับไม่ถ้วน แม้ไม่มีบทสรุปต่อตำนานเหล่านี้ หากนักท่องเที่ยวก็ได้สรุปร่วมกันแล้วว่าที่นี่คือความมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติโดยแท้
การลัดเลาะไปเที่ยวสามพันโบกอย่างใกล้ชิดต้องอาศัยการล่องเรือที่พาลัดเลาะไปยังจุดสำคัญๆ มากมาย อาทิ ปากบ้องเป็นจุดแคบสุดของแม่น้ำโขง วัดได้ 56 เมตร แก่งสองคอน เกิดจากเกาะหินหัวพะเนียงวางกลางลำน้ำ้ำโขง ทำให้แม่นí้ำโขงแยกออกเป็น
สองสายหรือสองคอน หาดสลึงเป็นหาดทรายสวยงามเหมาะพักผ่อนหย่อนใจริมฝั่งน้ำมูล ผาหินศิลาเลขซึ่งเป็นเหมือนรอยจารึกอดีตสมัยฝรั่งเศสรุ่งเรือง และหาดหงส์ซึ่งเป็นเนินทรายริมน้ำโขง ขนาดกว้างใหญ่ไพศาลโดยเฉพาะในช่วงอาทิตย์ใกล้ลับฟ้า หาดหงส์จะทอประกายความงดงามเหนือลำน้ำโขงด้วยแสงสีทองที่ทาบทอลงมา
การเดินทาง: อ.โพธิ์ไทร  จ. อุบลราชธานี

วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2554